วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กองทุนรวม ได้ผลตอบแทนแบบ "ทบต้น" ?


กองทุนรวม ได้ผลตอบแทนแบบ "ทบต้น" หรือไม่ อย่างไร ?



เคยเรียนมาตลอดถึงประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้น
แต่แอบสงสัยว่า ถ้าเราซื้อกองทุนไปเช่น 1,000 บาท มันจะมีดอกเบี้ยทบต้นได้อย่างไรเหรอ ?
เพราะราคาหน่วยลงทุนมันเปลี่ยนตามผลกำไรขาดทุนจากหุ้นที่ไปลง
ในอนาคตอาจเป็น บวกหรือลบ ก็ได้ ปีนี้กำไร ถ้ายังไม่ขาย อีก 3 ปีเกิดหุ้นตกมากๆ ก็ขาดทุน
คือไม่เหมือนฝากเงินได้ ดอกเบี้ยทุกปี ดอกเบี้ยที่ไม่ได้ถอนก็ทบๆ ไป
อย่างนี้กองทุนจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นมั้ย ?

คำตอบ
เราต้องเริ่มจากความเข้าใจแบบนี้
ดอกเบี้ยหรือ ผลตอบแทนในโลกนี้มันจะเป็นแบบ ทบต้นหรือไม่
ก็อยู่ที่ว่าเรา นำดอกเบี้ยนั้นไปใช้หรือว่า นำไปลงทุนต่อ
มันจะเป็นดอกเบี้ยทบต้น ก็ต่อเมื่อเรานำดอกเบี้ยไปลงทุนต่อใน งวดถัดไปเท่านั้น

สังเกตนะ ผู้เขียนเน้นคำว่า งวด
ที่ต้องเน้นก็เพราะว่า ถ้าไม่แบ่งช่วงเวลาออกเป็นงวดๆ เราก็จะไม่เห็น อาการของการ ทบต้น
ซึ่งงวดที่นิยมวัดกัน ก็มักจะเป็น รายปี
ผู้เขียนยกตัวอย่างแบบนี้นะ สมมติว่าในแต่ละปี กองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนดังนี้
ปีที่ 1   =   20%
ปีที่ 2   =   -10%
ปีที่ 3   =   15%

สมมติให้กองทุนนี้มี NAV **มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV)** เริ่มต้นที่ 10.00 บาท
เมื่อผ่านไป 1 ปี กองทุนได้กำไร +20%
NAV ก็จะเพิ่มขึ้นเท่ากับ 20% ของ NAV ต้นปี 10.00 บาท
จะได้ NAV ณ สิ้นปีที่ 1 = 12.00 บาท
ณ จุดนี้ ใครลงทุนไว้ 1,000 บาท เงินก็จะโตเป็น 1,200
หากใครถอนกำไรออกไป ก็ถือว่าไม่ทบต้น
หากไม่ถอนออกไป ยังทิ้งกำไรไว้ลงทุนต่อ ก็เริ่มการทบต้นในปีถัดไป
แต่ใครจะถอน หรือใครจะไม่ถอนก็ช่าง NAV ของกองจะยืนอยู่ที่ 12.00 บาทอยู่ดี
เพราะเวลามีคนถอนออกไป จำนวนหน่วยลงทุนจะลดลง แต่ NAV จะไม่ได้ลดตามไปด้วย

ในปีที่สองนั้น สมมติให้หุ้นที่ลงทุนตกไป -10%
NAV ก็จะลดลง 10% จาก NAV ต้นปีที่ 12.00 บาท
กลายเป็น NAV ณ สิ้นปีที่ 2 = 10.80 บาท
สังเกตนะ ว่าการลดลง 10% นี้ เป็นการลดลงจากกำไรที่สะสมมาจากปีก่อน
นี่ถือเป็นการ ทบต้นนะ แต่เป็นการ ทบต้นไปในทางติดลบ
คือปีที่แล้วไม่ยอมขายออก ปีนี้พอขาดทุน จึงขาดทุนส่วนกำไรของปีก่อนด้วย
เงินลงทุน 1,200 บาทจากปีก่อน ตอนนี้ก็จะเหลือ 1,080 บาทเช่นกัน

ในปีที่สาม หุ้นกลับมาโตได้ +15%
NAV ก็จะเพิ่มขึ้นเท่ากับ 15% ของ NAV ต้นปีที่ 10.80 บาท
จะได้ NAV ณ สิ้นปีที่ 3 = 12.42 บาท
ซึ่งการเพิ่มขึ้น 15% นี้ก็ถือเป็นการเป็นการทบต้นต่อเนื่อง จากผลตอบแทนของ 2 ปีแรก คือจาก
10.00 -> 12.00 -> 10.80 -> 12.42
เงินลงทุน 1,080 บาทจากปีก่อน ตอนนี้ก็จะโตเป็น 1,242 บาท

เจ้า NAV 12.42 นี้ หากคิดเทียบ NAV 10.00 บาท ก็จะมีผลตอบแทนสะสมรวมในช่วง 3 ปี = 24.2%
หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทน เฉลี่ยแบบทบต้น ก็จะได้เท่ากับ 7.49% ต่อปี
(สังเกตว่าไม่ใช่ 24.2% / 3 ปี = 8.07% ต่อปี)

ลองตรวจคำตอบได้ ให้เงินโตปีละ 7.49% จะโตใน Step นี้
10.00 -> 10.749 -> 11.554 -> 12.42
เริ่มที่ 10 จบที่ 12.42 เท่ากันเลย นี่แหละค่าเฉลี่ยแบบทบต้น

ที่ผู้เขียนต้องอธิบายยกตัวอย่างเสียยืดยาว ก็เพื่อจะให้เห็นความ ต่อเนื่องของการ ทบต้น
ซึ่งสะท้อนอยู่ใน NAV ของกองทุน เพื่อจะบอกว่า
การลงทุนในกองทุนนั้นหากเราไม่ได้นำผลตอบแทนออกไปใช้มันก็คือการลงทุนที่ได้ดอกเบี้ยแบบทบต้นนั่นเอง
กระบวนการนี้ยังช่วยให้เห็นภาพด้วยว่า กองทุนที่ NAV สูงๆ หลายๆ กอง ไม่ได้แปลว่าเค้าแพง
แต่เค้ามีการสะสมผลตอบแทนทบต้นเอาไว้ในกองเยอะมาก (อาจเพราะเก่ง หรืออาจเพราะตั้งมานานหลายปี หรือ ทั้งคู่)

ส่วนจะได้ประโยชน์ระยะยาวมั๊ย ?
อย่างพวกกองหุ้นที่เห็นผลตอบแทนย้อนหลังกันสูงๆ เนี่ย ก็ผ่านปีบวก ปีลบ ทบต้นกันมาต่อเนื่องนะ
ผลตอบแทนเมื่อนำมาเฉลี่ยแบบทบต้นแล้ว ก็ถือว่าสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น