วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

นั่งรถไฟข้ามแดน "ไทย-ลาว" ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

 

นั่งรถไฟข้ามแดน "ไทย-ลาว" 

ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

สายท่องเที่ยวหลายคน อินกับการนั่งรถไฟท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางข้ามพรมแดนด้วยรถไฟ ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ได้ขยายเส้นทางขบวนรถไฟ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) 

งานนี้ การรถไฟฯ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ใครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟ เรามีข้อมูลดี ๆ โดยเฉพาะเทคนิควิธีการทำเรื่องข้ามพรมแดนที่ประหยัดเวลา มาบอกกัน

รู้จักเส้นทางรถไฟ “ไทย-ลาว”

ย้อนเวลากลับไป เส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อสองประเทศไว้ด้วยกัน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยเป็นเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ที่เชื่อมถึงกัน เริ่มต้นในระยะสั้น ๆ ราว 3.5 กิโลเมตร จากจังหวัดหนองคายไปยังท่านาแล้ง (เมืองหาดชายฟอง) ของ สปป.ลาว 

เส้นทางสายนี้ได้ทำหน้าที่ขนส่งผู้คนมายาวนานกว่า 15 ปี กระทั่งมาถึงปี 2567 เส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ได้ทำการเพิ่มส่วนต่อขยายจากท่านาแล้ง ไปจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้ไกล และสะดวกมากยิ่งขึ้น

เส้นทางการเดินทางด้วยรถไฟ “ไทย-ลาว” เป็นอย่างไร ?

เส้นทางรถไฟไทย-ลาว มีอยู่ด้วยกัน 4 ขบวน ดังนี้

1.รถเร็ว 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)  
รถไฟจะออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึงหนองคาย 07.55 น. ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย ใช้เวลา 40 นาที จากนั้นเดินทางออกจากหนองคาย เวลา 08.35 น. ไปถึงยังเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเวลา 09.05 น.

2.รถเร็ว 148 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - อุดรธานี 
รถไฟเดินทางออกจากเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เวลา 09.35 น. ถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 10.05 น. จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 10.45 น.ไปถึงยังอุดรธานี เวลา 11.25 น.

3.รถเร็ว 147 อุดรธานี - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
รถไฟเดินทางออกจากจังหวัดอุดรธานี เวลา 16.00 น. ไปถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 16.40 น. เข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 17.25 น. เดินทางถึงเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเวลา 17.55 น.

4.รถเร็ว 134 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - กรุงเทพอภิวัฒน์ 
รถไฟเดินทางออกจากเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เวลา 18.25 น. ไปถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 18.55 น. เข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 20.15 น. เพื่อเดินทางสู่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ต่อไป

ขั้นตอนการผ่านแดน ต้องทำอย่างไร ?

  1. ลงจากรถไฟเมื่อถึงสถานีหนองคาย
  2. เข้าช่องตรวจหนังสือเดินทาง หรือ บัตรผ่านแดน
  3. กลับขึ้นรถไฟ ระหว่างนี้ผู้โดยสารจะมีสถานะ ยังผ่านแดนไม่สมบูรณ์”
  4. ถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
  5. เมื่อลงจากรถ จะมีทางบังคับให้เดินไปเข้าช่องตรวจหนังสือเดินทาง / บัตรผ่านแดน
  6. เมื่อตรวจเรียบร้อย สามารถออกจากสถานีได้ ถือว่า ผ่านแดนถูกต้องสมบูรณ์”

การตรวจหนังสือเดินทาง ต้องทำ 2 แห่ง คือ

  1. สถานีรถไฟหนองคาย
  2. สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

ข้อควรรู้ การใช้หนังสือเดินทาง (Passport) และบัตรผ่านแดน (Border pass) 

Ø  ผู้โดยสารสามารถใช้ได้ทั้งหนังสือเดินทาง หรือ บัตรผ่านแดน ในการเดินทางเข้าออก สปป.ลาว แต่กรณีเดินทางมากับขบวนรถไฟ 133 และ 147 ซึ่งสามารถซื้อตั๋วรวดเดียว ผ่านเข้า สปป.ลาว ผู้โดยสารจะมีเวลาตรวจคนเข้าเมืองเพียง 40 นาที จึงแนะนำให้ใช้หนังสือเดินทางในการผ่านแดน เนื่องจากการใช้บัตรผ่านแดน จะต้องไปทำบัตรที่สำนักงานออกบัตรผ่านแดนจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไป 5-10 นาที และมีขั้นตอนในการทำบัตร อาจทำให้กลับมาไม่ทันเวลารถไฟออกได้ 

Ø  การใช้บัตรผ่านแดน (Border pass) แนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ที่อยู่ในภูมิลำเนาหนองคาย หรือผู้ที่มาขึ้นรถไฟที่สถานีหนองคายเป็นต้นทาง เพื่อลดขั้นตอนการรอเวลาทำบัตรลงไป

Ø  กรณีผู้ที่ต้องการทำบัตรผ่านแดน (Border pass) สามารถทำบัตรผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Border pass) ล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ https://bpsportal.dopa.go.th/ โดยจะได้รับ QR Code เพื่อไปรับบัตรผ่านแดนตัวจริงตามวันนัด เนื่องจากการผ่านแดน ต้องใช้บัตรผ่านแดนตัวจริงในการเข้าออกประเทศเท่านั้น

Ø  กรณีใช้หนังสือเดินทาง (Passport) ควรตรวจอายุพาสปอร์ต ต้องมีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน  

วิธีจองตั๋วรถไฟ ต้องทำอย่างไร ?

·        จองผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ www.dticket.railway.co.th

·        จองผ่านคอลเซ็นเตอร์ เบอร์ 1690

·        Walk in ไปจองที่ช่องขายตั๋วที่สถานี

การเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ นอกจากเป็นความสนุก ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับการเดินทาง ทั้งนี้ต้องดูแลความปลอดภัย เพื่อให้ทริปท่องเที่ยวไปกลับอย่างมีสวัสดิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น