วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ไหว้พระรับศีลเข้าพรรษา

 


ไหว้พระรับศีล

เข้าพรรษา

ไหว้พระรับศีล 

อิมินา  สักกาเรนะ  ตังพุทธัง  อภิปูชะยามะ

อิมินา  สักกาเรนะ  ตังธัมมัง  อภิปูชะยามะ

อิมินา  สักกาเรนะ  ตังสังฆัง  อภิปูชะยามะ

 

อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  ภะคะวา

พุทธัง  ภะคะวันตัง  อะภิวาเทมิ ฯ  (กราบ)

สวากขาโต  ภะคะวะตา  ธัมโม

ธัมมัง  นะมัสสามิ ฯ (กราบ)

สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

สังฆัง  นะมามิ ฯ (กราบ)

 

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ

(๓ จบ)

 

คำอาราธนาศีล ๕

มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ  ติสะระเณนะ 

สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะฯ

ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ 

ติสะระเณนะ  สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะฯ

ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ 

ติสะระเณนะ  สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะฯ

 

คำอาราธนาธรรม

พรมมา  จะโลกาธิปะติ  สะหัมปะติ

กัตอัญชลี  อันธิวะรัง  อะยาจะถะ

สันตีธะ  สัตตาปปะระชักขะชาติกา

เทเสตุธัมมัง  อะนุกัมปิมัง  ปะชังฯ

 


 

คำสาธุการเมื่อพระเทศน์จบ

 

เมื่อพระแสดงธรรมจบ ขอเชิญรับสาธุการพร้อมกันด้วยถ้อยคำข้างล่างนี้

 

สาธุ  พุทธะสุโพธิตา,   สาธุ ความตรัสรู้ดีจริงของพระพุทธเจ้า,

สาธุ ธัมมะปุธัมมะตา,   สาธุ ความเป็นธรรมดีจริงของพระธรรม,

สาธุ สังฆัสสุปะฏิปัตติ,  สาธุ ความปฏิบัติความดีจริงของพระสงฆ์,

อะโห พุธโธ,               พระพุทธเจ้า น่าอัศจรย์จริง,

อะโห ธัมโม,                พระธรรมเจ้า น่าอัศจรรย์จริง,

อะโห สังโห,                พระสงฆเจ้า น่าอัศจรรย์จริง,

                                                                 

อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะตา  (คะโต)

       ข้าพเจ้าถึงแล้วซึ่ง พระพุทธเจ้า, พระธรรมเจ้า, พระสังฆเจ้า, ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง,

อุปาสิกัตตัง เทเสสิง (อุปาสะกัตตัง) ภิกขุ สังฆัสส สัมมุขา,

       ข้าพเจ้าขอแสดงตนว่า, เป็นอุบาสิกา (อุบาสก) ในที่จำเพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์

เอตัง เม สะระณัง เขมัง, เอตัง สะระณะมุตตะมัง,

       พระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่งอันเกษมของข้าพเจ้า, พระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่งอันสูงสุด

เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย,

       เพราะอาศัยพระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่ง, ข้าพเจ้าพึงพ้นทุกข์ ทั้งปวง,

ยะถาพะลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธะสาสะนัง,

       ข้าพเจ้า จักประพฤติซึ่งพระธรรมคำสั่งสอน, ของพระสัมมา

สัมพุทธเจ้า โดยสมควรแก่กำลัง,

ทุกขะนิสสะระณะณัสเสวะ ภาคีนิสสัง (ภาคีอัสสัง) อะนาคะเต,

       ขอข้าพเจ้าพึงมีส่วนพระนิพพาน, อันเป็นที่ยกตนออกจากทุกข์ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญฯ


 

(หมอบลงว่า)

กาเยนะ  วาจายะ  วะเจตะสา  วา

พุทเธ  กุกัมมัง  ปะกะตัง  มะยายัง

พุทโธ  ปะฏิคคัณหะตุ  อัจจะ  ยันตัง 

กาลันตะเร  สังวะริตุง  วะพุทเธฯ

 

(หมอบลงว่า)

กาเยนะ  วาจายะ  วะ เจตะสา  วา

ธัมเม  กุกัมมัง  ปะกะตัง  มะยา ยัง

ธัมโม  ปะฏิคคัณหะตุ  อัจจะยันตัง 

กาลันตะเร  สังวะริตุง  วะ  ธัมเมฯ

 

(หมอบลงว่า)

กาเยนะ  วาจายะ  วะ  เจตะสา  วา

สังเฆ  กุกัมมัง  ปะกะตัง  มะยา  ยัง

สังโฆ  ปฏิคคัณหะตุ  อัจจะยันตัง

กาลันตะเร  สังวะริตุง  วะ  สังเฆฯ

 

 

คำลากลับบ้าน

(คฤหัสถ์)     หันทะทานิ  มะยัง  ภันเต  อาปุจฉามะ  พะหุ  กิจจา  มะยัง  พะหุกะระณียา

(พระสงฆ์)    ยัสสะทานิ  ตุมเห  กาลัง มัญญะถะฯ

(คฤหัสถ์)     สาธุ  ภันเตฯ

(แล้วกราบพระ ๓ ครั้ง)

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

นั่งรถไฟข้ามแดน "ไทย-ลาว" ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

 

นั่งรถไฟข้ามแดน "ไทย-ลาว" 

ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

สายท่องเที่ยวหลายคน อินกับการนั่งรถไฟท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางข้ามพรมแดนด้วยรถไฟ ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ได้ขยายเส้นทางขบวนรถไฟ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) 

งานนี้ การรถไฟฯ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ใครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟ เรามีข้อมูลดี ๆ โดยเฉพาะเทคนิควิธีการทำเรื่องข้ามพรมแดนที่ประหยัดเวลา มาบอกกัน

รู้จักเส้นทางรถไฟ “ไทย-ลาว”

ย้อนเวลากลับไป เส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อสองประเทศไว้ด้วยกัน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยเป็นเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ที่เชื่อมถึงกัน เริ่มต้นในระยะสั้น ๆ ราว 3.5 กิโลเมตร จากจังหวัดหนองคายไปยังท่านาแล้ง (เมืองหาดชายฟอง) ของ สปป.ลาว 

เส้นทางสายนี้ได้ทำหน้าที่ขนส่งผู้คนมายาวนานกว่า 15 ปี กระทั่งมาถึงปี 2567 เส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ได้ทำการเพิ่มส่วนต่อขยายจากท่านาแล้ง ไปจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้ไกล และสะดวกมากยิ่งขึ้น

เส้นทางการเดินทางด้วยรถไฟ “ไทย-ลาว” เป็นอย่างไร ?

เส้นทางรถไฟไทย-ลาว มีอยู่ด้วยกัน 4 ขบวน ดังนี้

1.รถเร็ว 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)  
รถไฟจะออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึงหนองคาย 07.55 น. ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย ใช้เวลา 40 นาที จากนั้นเดินทางออกจากหนองคาย เวลา 08.35 น. ไปถึงยังเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเวลา 09.05 น.

2.รถเร็ว 148 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - อุดรธานี 
รถไฟเดินทางออกจากเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เวลา 09.35 น. ถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 10.05 น. จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 10.45 น.ไปถึงยังอุดรธานี เวลา 11.25 น.

3.รถเร็ว 147 อุดรธานี - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
รถไฟเดินทางออกจากจังหวัดอุดรธานี เวลา 16.00 น. ไปถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 16.40 น. เข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 17.25 น. เดินทางถึงเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเวลา 17.55 น.

4.รถเร็ว 134 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - กรุงเทพอภิวัฒน์ 
รถไฟเดินทางออกจากเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เวลา 18.25 น. ไปถึงจังหวัดหนองคาย เวลา 18.55 น. เข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านสถานีหนองคาย 40 นาที ก่อนจะออกจากหนองคาย เวลา 20.15 น. เพื่อเดินทางสู่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ต่อไป

ขั้นตอนการผ่านแดน ต้องทำอย่างไร ?

  1. ลงจากรถไฟเมื่อถึงสถานีหนองคาย
  2. เข้าช่องตรวจหนังสือเดินทาง หรือ บัตรผ่านแดน
  3. กลับขึ้นรถไฟ ระหว่างนี้ผู้โดยสารจะมีสถานะ ยังผ่านแดนไม่สมบูรณ์”
  4. ถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
  5. เมื่อลงจากรถ จะมีทางบังคับให้เดินไปเข้าช่องตรวจหนังสือเดินทาง / บัตรผ่านแดน
  6. เมื่อตรวจเรียบร้อย สามารถออกจากสถานีได้ ถือว่า ผ่านแดนถูกต้องสมบูรณ์”

การตรวจหนังสือเดินทาง ต้องทำ 2 แห่ง คือ

  1. สถานีรถไฟหนองคาย
  2. สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

ข้อควรรู้ การใช้หนังสือเดินทาง (Passport) และบัตรผ่านแดน (Border pass) 

Ø  ผู้โดยสารสามารถใช้ได้ทั้งหนังสือเดินทาง หรือ บัตรผ่านแดน ในการเดินทางเข้าออก สปป.ลาว แต่กรณีเดินทางมากับขบวนรถไฟ 133 และ 147 ซึ่งสามารถซื้อตั๋วรวดเดียว ผ่านเข้า สปป.ลาว ผู้โดยสารจะมีเวลาตรวจคนเข้าเมืองเพียง 40 นาที จึงแนะนำให้ใช้หนังสือเดินทางในการผ่านแดน เนื่องจากการใช้บัตรผ่านแดน จะต้องไปทำบัตรที่สำนักงานออกบัตรผ่านแดนจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไป 5-10 นาที และมีขั้นตอนในการทำบัตร อาจทำให้กลับมาไม่ทันเวลารถไฟออกได้ 

Ø  การใช้บัตรผ่านแดน (Border pass) แนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ที่อยู่ในภูมิลำเนาหนองคาย หรือผู้ที่มาขึ้นรถไฟที่สถานีหนองคายเป็นต้นทาง เพื่อลดขั้นตอนการรอเวลาทำบัตรลงไป

Ø  กรณีผู้ที่ต้องการทำบัตรผ่านแดน (Border pass) สามารถทำบัตรผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Border pass) ล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ https://bpsportal.dopa.go.th/ โดยจะได้รับ QR Code เพื่อไปรับบัตรผ่านแดนตัวจริงตามวันนัด เนื่องจากการผ่านแดน ต้องใช้บัตรผ่านแดนตัวจริงในการเข้าออกประเทศเท่านั้น

Ø  กรณีใช้หนังสือเดินทาง (Passport) ควรตรวจอายุพาสปอร์ต ต้องมีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน  

วิธีจองตั๋วรถไฟ ต้องทำอย่างไร ?

·        จองผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ www.dticket.railway.co.th

·        จองผ่านคอลเซ็นเตอร์ เบอร์ 1690

·        Walk in ไปจองที่ช่องขายตั๋วที่สถานี

การเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ นอกจากเป็นความสนุก ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับการเดินทาง ทั้งนี้ต้องดูแลความปลอดภัย เพื่อให้ทริปท่องเที่ยวไปกลับอย่างมีสวัสดิภาพ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เล้าข้าว ของชาวอีสาน



          อีสาน” หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพทำนาเป็นหลักมาตั้งแต่ครั้งบรรพชนจนถึงปัจจุบัน เป็นสังคมที่ต้องพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำมาหากิน เครื่องมือ เครื่องใช้ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆในการดำเนินชีวิตตามสภาพที่พึ่งมี เท่าที่ธรรมชาติในท้องถิ่นของตนจะเอื้ออำนวย ภาคอีสานถึงแม้จะมีพื้นที่ทำนาจำนวนมากแต่การผลิตข้าวยังทำได้น้อยเนื่องจากปัจจัยหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้วิถีชีวิตของคนอีสานอยู่กับการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวมาเพื่อเลี้ยงชีวิต เกือบครึ่งปี ข้าวจึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าแห่งชีวิตของคนอีสาน การเก็บรักษาข้าวพร้อมที่จะนำมาปรุงอาหารและแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงมีความสำคัญและจำเป็น จึงต้องสร้างที่เก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ประจำบ้านของตน ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เล้าข้าว”  

          เล้าข้าว มีชื่อเรียกหลายอย่างด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละท้องถิ่น  ในกลุ่มชาวนาภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า เล้าข้าว หลองข้าว ภาคอีสาน จะนิยมเรียกว่า “เล้าข้าว” ภาคกลางส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ยุ้งข้าว แต่มีบางจังหวัดเรียกว่า ฉางข้าว ส่วนภาคใต้เรียกว่า เรือนข้าว หรือ เริ้นข้าว ดังนั้น เล้าข้าว หรือ ยุ้งข้าว จึงเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกของชาวนา มีรูปแบบและโครงสร้างที่แข็งแรง มักเป็นเรือนหลังเดี่ยว ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมสามารถพัดผ่านได้สะดวกเพื่อป้องกันไม่ใช้ข้าวเปลือกชื้นและขึ้นรา ยุ้งข้าวเปรียบประดุจท้องพระคลังมหาสมบัติของชุมชน เสมือนเป็นขุมอาหาร ซึ่งหากขาดแคลนแล้วไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่ได้ จึงก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับยุ้งข้าวอันถือเป็นเรื่องใหญ่


ความเชื่อในการสร้างเล้าข้าว

          -ข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเล้าข้าว ว่าข้าวเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าวจึงต้องมีความสำคัญตามไปด้วย หรือแม้แต่ความเชื่อต่างๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา เป็นมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมของอีสาน ด้านความเชื่อในลักษณะข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามหันประตูเล้าข้าว (หันด้านหน้า) ไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจระเข้) เพราะเชื่อกันว่าเป็นการหันประตูไปทางปากช้าง แล้วช้างจะกินข้าว อันเป็นเหตุให้เก็บรักษาข้าวไม่อยู่หรือมีเหตุให้สูญเสียข้าวอยู่เรื่อยๆ ห้ามหันประตูเล้าข้าวเข้าหาเรือน ด้วยความเชื่อและเหตุผลเวลาขนข้าวเข้า-ออก จะได้ สะดวกสบาย ไม่นิยมสร้างเล้าข้าวไว้ในตำแหน่งทิศหัวนอนของเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าเป็นการนอนหนุนข้าว จะเป็นเหตุให้คนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่สบายและมีภัยพิบัติ เล้าข้าวที่ถูกรื้อแล้วห้ามนำไม้ไปสร้างเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายไม่เจริญและมีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัว บริเวณที่สร้างเล้าข้าวเมื่อรื้อออกหรือย้ายออกจะไม่สามารถสร้างบ้านบริเวณนั้นได้ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของแม่โพสพ ที่เคารพนับถือ มีพระคุณ และการสร้างเล้าข้าวจะไม่สร้างในลักษณะขวางตะวัน เพราะเชื่อว่าถ้าสร้างแล้วจะมีแต่สิ่งที่ขัดขวาง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ถูกลดบทบาทลง ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางข้อ เนื่องด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เอาความง่ายและสะดวกสบายเป็นหลักซึ่งไม่ถูกต้องตามพิธีกรรมและประเพณีดั้งเดิม

 

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเล้าข้าว

          ชาวอีสานแต่โบราณเชื่อว่า “วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันฟ้าไข (เปิด) ประตูฝน เพื่อให้ฝนตกลงมาสู่โลกมนุษย์ และเชื่อว่าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่โลกมีความอิ่มและอุดมสมบูรณ์ที่สุด ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี่ (ฮูขี่ แปลว่า รูทวารหนัก) หมากขามป้อมก็ต่าวหวาน” จึงถือโอกาสเปิดประตูเล้าข้าว (ประตูยุ้งข้าว) ของตน ซึ่งปิดไว้ห้ามเปิดมาตั้งแต่วันเอาข้าวขึ้นเล้าหลังนวดข้าวเสร็จ ในประมาณกลางเดือนสิบสองหรือต้นเดือนอ้ายเป็นอย่างช้า ซึ่งจะมี “พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า” “พิธีสู่ขวัญข้าว” และ “พิธีตุ้มปากเล้า” ก่อนที่จะเปิดประตูเล้า และจะนำข้าวเปลือกที่อยู่ในเล้าไปถวายวัดก่อนจะตักข้าวในเล้าลงมาตำกินในครัวเรือน(ซึ่งสมัยโบราณใช้วิธีการตำข้าว) เพื่อให้เป็นไปตาม “คองสิบสี่สำหรับประชาชน ข้อที่ 1” ที่บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้เข่าใหม่หลือหมากไม้เป็นหมากใหม่ ตนอย่าฟ้าวกินก่อนให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีสีนกินก่อน แล้วตนจึงกินเมื่อพายลุน และให้แบ่งแก่ยาดติพี่น้องนำ”

 

พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า

          พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำมาใส่ไว้ในเล้า นิยมทำวันจันทร์ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5 โมง มีขั้นตอน คือ เอาเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ใส่ขัน พร้อมกระบุงเปล่า 1 ใบ และหาขันหรือกระบอกใส่ข้าว(ขวัญข้าว) 1 อัน หัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอกสำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว ยกขัน 5 ขึ้น ว่านโม 3 จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าว “อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสราธนาแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า คุณข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ” แล้วเอาขันที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุดตรงข้ามประตูเข้าเล้า ซึ่งขวัญข้าวที่เก็บไว้นั้นจะนำมาผสมกับข้าวปลูกเพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป

 

พิธีสู่ขวัญข้าว

          เป็นประเพณีที่ชาวอีสานแต่ละครอบครัวจะทำกัน ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถ้าครัวเรือนไหนจะสู่ขวัญข้าวก็จะจัด “พาขวัญน้อย” หนึ่งพา แล้วให้หมอสูดมาเป็นผู้ “สูดขวัญ” ให้เล้าข้าว โดยโยงด้ายสายสิญน์จากเล้าข้าวมาหาพาขวัญกับหมอสูดที่อยู่ข้างๆ ซึ่งในประเพณีอีสานในการสูดขวัญข้าวก็จะมีคำสูดขวัญโดยเฉพาะพิธีตุ้มปากเล้า

          ชาวอีสานหลังจาก “เอาเข่าขึ้นเล่า” แล้วชาวนาอีสานจะปิดประตูเล้าสนิท จะไม่ตักข้าวในเล้ามากินหรือมาขายเป็นอันขาด ข้าวเปลือกที่จะนำมาตำหรือมาสีกินในระหว่างที่ปิดประตูเล้าข้าวนั้น จะแบ่งไว้หรือกันไว้นอกเล้าข้าวต่างหาก เพราะชาวอีสานเชื่อว่า เมื่อนำข้าวขึ้นเล้าแล้วต้องปิดประตูเล้า 

           รอถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเชื่อว่า “เป็นวันมงคล” จึงจะเปิดประตูเล้าข้าวได้ เพราะเชื่อว่าถ้าเปิดก่อนจะไม่เป็นมงคลแก่เล้าข้าว และข้าวในเล้าจะบก(ลด) จะพ่องไปอย่างรวดเร็ว พิธีกรรมการเปิดเล้าข้าวครั้งแรกเรียกว่า “ตุ้มปากเล้า” (ตุ้ม-คุ้มครอง, ปากเล่า-ประตูเล้า) การตุ้มปากเล้า แต่ละครัวเรือนก็จะต่างคนต่างทำที่เล้าข้าวของตนเพื่อปลอบขวัญข้าว หรือปลอบขวัญแม่โพสพ ผู้เป็นแม่เรือนจะจัดขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียนเล็ก 5 คู่) ใส่จานวางไว้ที่ประตูเล้าแล้วบอกกล่าวกับเล้าข้าวว่า “วันนี้เป็นวันดี จะมีการเปิดเล่าเข่า ขอให้กินอย่าบก จกอย่าลง” หรือบางคนอาจจะกล่าวยาวๆ ซึ่งมีคำกล่าวในพิธีการตุ้มปากเล้าโดยเฉพาะของอีสานอยู่ก็แล้วแต่แม่เรือน ผู้ทำพิธี พอพูดจบก็ไข (เปิด) ปักตู (ประตู) แล้วก็เสร็จพิธี ซึ่งในวิถีอีสานปัจจุบันการทำพิธีสู่ขวัญข้าว การเอาข้าวขึ้นเล้า จะไม่ค่อยมีแล้ว จะนิยมเอาใส่กระสอบไว้ในบ้านหรือขายตั้งแต่เกี่ยวข้าวเสร็จ เนื่องด้วยยึดความสะดวกสบาย ตามสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เพราะการทำนาในปัจจุบันมีการลงทุน มีการใช้เครื่องจักรและการจำหน่ายผลผลิตเพื่อให้ได้กำไร พิธีกรรมที่เคยปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกเหนือจากพิธีกรรมแล้วเล้าข้าวยังแฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาแห่งบรรพชนในการออกแบบการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์และการเก็บรักษาผลผลิตที่ได้สั่งสมมาอีกด้วย



 

ภูมิปัญญาในการก่อสร้างเล้าข้าว

          ภูมิปัญญาในการก่อสร้าง ยุ้งข้าว(เล้าข้าว) ไว้ว่า ยุ้งข้าวเป็นภูมิปัญญาโบราณที่รับใช้ชาวนา ทุกชนชาติมาอย่างยาวนาน และยังสืบทอดพัฒนาจนเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบ ถึงแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เกิดจากการสั่งสมศึกษาลองผิดลองถูกจนเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่หลักในการออกแบบเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) มีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะประโยชน์ใช้สอยหลักของเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) ไม่ว่าของพื้นที่ใดก็คือการป้องกันเมล็ดข้าวจากความร้อน ความชื้น สัตว์ และแมลงที่มาทำลายข้าวให้เกิดความเสียหายแนวคิดในการออกแบบเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) ถึงจะต่างพื้นที่ ต่างสังคมวัฒนธรรมและศาสนา แต่สถาปัตยกรรมของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึง จนเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ 1) ยกพื้นสูง เพื่อป้องกันความชื้น ป้องกันการรบกวนของสัตว์ใหญ่ เช่น แรดและช้าง 2) การก่อสร้างผนังอยู่ริมในของเสาเพื่อทำให้ภายในยุ้งข้าวไม่มีซอกมุมที่เกิดจากเหลี่ยมเสาเพื่อลดการสะสมของเมล็ดข้าวอยู่ตามซอก ไม่มีบันไดและหน้าต่างเพื่อป้องกันแสง ความร้อนและความชื้น ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายอากาศได้ดี 3) โครงสร้างอยู่ภายนอกผนังเพื่อรับนํ้าหนัก ระบบโครงสร้างกับระบบผนังมักจะแยกเป็นอิสระจากกัน พื้นจะทำหน้าที่รับนํ้าหนักของข้าว ถ่ายเทนํ้าหนักลงบนตงและคาน ผนังจะรับแรงถีบจากด้านข้าง เสาจะรับทั้งนํ้าหนักและแรงถีบจากผนัง ในเล้าข้าวขนาดใหญ่มักจะมีเคร่าตีเสริมระหว่างเสาเพื่อช่วยรับแรงถีบของข้าว และมักเอียงเสาเข้า เพื่อรับแรงอีกทางหนึ่ง ในภาคอีสานเรียกรูปแบบนี้ว่าทรงช้างขี้ มีหลังคาลาดชันระบายนํ้าได้ดี หลังคาจะค่อนข้างชันเพื่อป้องกันฝนรั่วทำลายข้าวภายในเล้าข้าว 5) มีรายละเอียดในการก่อสร้าง เพื่อป้องกัน นกหนู แมลง ที่กินเมล็ดธัญพืชเป็นอาหารซึ่งเป็น ศัตรูสำคัญซึ่งทำให้ผลผลิตที่เก็บไว้ยุ้งข้าวเสียหาย ชาวอีสานโบราณได้สั่งสมความรู้และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันผลผลิตจากแมลงและหนูโดยจะไม่วางเล้าไว้ใกล้บ้าน รั้ว หรือต้นไม้เพื่อกันหนูกระโจน เข้ามาในเล้าและที่โคนเสาก็จะใช้วัสดุผิวมันกรุเอาไว้เพื่อป้องกันหนูไต่ 6) มีจารีต และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเคารพต่อธรรมชาติ ทุกวัฒนธรรมที่ปลูกข้าวจะมีผีและเทวดาที่เกี่ยวข้องกับข้าว แผ่นดิน ต้นไม้ ฝน นํ้า ที่สำคัญต่อการเพาะปลูก เช่น พระแม่โพสพ พญาแถน พญาคันคาก นาค งู เงือก ฯลฯ โดยผีและเทวดาเหล่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติสามารถให้คุณและโทษแก่ผลผลิตข้าวของเกษตรกรได้ จึงต้องมีจารีตประเพณีเพื่อแสดงความเคารพ ขอขมา บอกกล่าวต่อธรรมชาติอยู่มากมายตลอดทั้งปี

 

สถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน

          เล้าข้าวออกเป็น 3 ขนาด คือ 1) เล้าข้าวขนาดเล็ก มีขนาดยาว 1-3 ช่วงเสากว้าง 1-2 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาอยู่ห่างกัน 1.00 -2.00 เมตร เก็บข้าวได้ไม่เกิน 500 กระบุง 2) เล้าข้าวขนาดกลาง สำรวจพบว่ามีมากทีสุดประมาณร้อยละ 90 ขนาดยาว 3-4 ช่วงเสา กว้าง 2-3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นไม้เนื้อแข็ง ส่วนหลังคามักมุงกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องคอนกรีต แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ เล้าข้าวขนาดกลางเก็บข้าวได้ 500-1,000 กระบุง 3) เล้าข้าวขนาดใหญ่ ยาวมากกว่า 4 ช่วงเสากว้างมากกว่า 3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นเดียวกับเล้าข้าวขนาดกลาง เล้าข้าวขนาดใหญ่เก็บข้าวได้มากกว่า 1,000 กระบุง

 


วัสดุที่ใช้และส่วนประกอบของเล้าข้าว

          โครงสร้างทั้งหมดของเล้าข้าวนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น เสา ขาง (คาน) ตง คร่าว ขื่อ สะยัว (จันทัน) ดั้ง ตลอดจนกะทอด (พลึง) แป กลอน และวงกบประตู เพื่อความคงทนแข็งแรงในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญ มีดังนี้คือ
          -ตง คือไม้เนื้อแข็งขนาด ประมาณ 3 – 4 นิ้ว ขนาดยาว ที่ใช้วางบนคาน (ขาง) ซึ่งบางครั้งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุคือไม้ และความต้องการในเรื่องความคงทน แข็งแรง เพราะถ้าใช้ตงวางบนคานก็จะช่วยทำให้การรับน้ำหนักของพื้นเล้ามีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าจะมีแต่คานโดยไม่มีตงก็สามารถจะรับน้ำหนักได้อยู่แล้ว
หลังคา จะมีรูปทรงเป็นหน้าจั่ว ยุคแรกๆจะนิยมใช้หญ้าแฝก, หญ้าคามุงกันมาก ต่อมามีการใช้แผ่นไม้มุง (แป้นมุง-แผ่นไม้แข็งที่เอามาตัดและถางให้เป็นรูปคล้ายกระเบื้องดินขอ) และในสมัยปัจจุบันนิยมใช้สังกะสี หน้าจั่ว จะใช้หญ้าแฝก,หญ้าคา หรือไม้ไผ่สาน เพื่อกันฝนสาดเข้าไปถูกข้าวเลือกที่เก็บไว้ในเล้า
          -พื้น จะใช้ไม้แผ่นเนื้อแข็งอีสานเรียกแป้น เพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เมื่อปูพื้นด้วยไม้แผ่นเนื้อแข็งแล้ว จะเกิดร่องระหว่างแผ่นที่เกิดจากการไม่ชิดกันของแผ่นไม้ ชาวอีสานจะใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นชิ้นกว้างประมาณ 2 ซม. เศษๆ หรือบางครั้งก็ใช้ไม้แผ่นตีทับตามแนวร่องปิดไว้ ไม้แผ่นที่ตีปิดร่องนี้เรียกว่า “ลึก” หรือ “ลึกไม้” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกรั่วออกจากพื้นเล้า
          -ฝา เป็นส่วนประกอบเล้าที่สำคัญมาก ในแง่ประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ในอดีตจะนิยมใช้ไม้แซง(ลำแซง), ไม้แขม(ลำแขม), และไม้ไผ่จักเป็นเส้นขนาดประมาณ 1 ซม. มาสานเป็นลายขัดแล้วทาอุดด้วยขี้วัว ขี้ควายผสมน้ำและดินโคลนตามความเหมาะสม เพื่ออุดรอยรั่วของลายขัด ซึ่งนิยมใช้ไม้แซงมากกว่าไม่แขม เพราะมีความคงทนกว่า แต่ต้องไปตัดไกลๆจากหมู่บ้าน คนที่ชอบสะดวกและง่ายๆ ก็มักจะใช้ไม้แขม เพราะขึ้นอยู่ตามบริเวณหนองน้ำใกล้ๆ หมู่บ้าน พอไม้แซงและไม้แขมหายาก จึงใช้ไม้ไผ่จักเป็นเส้นมาสานทำเป็นฝาแทน ต่อมาจึงมีการใช้ไม้แผ่น(ไม้แป้น)มาทำเป็นฝากันมากขึ้นเพราะคงทนถาวรมากกว่า เมื่อไม้แผ่นหายากและมีราคาสูง ในปัจจุบันส่วนมากจึงนิยมใช้สังกะสีมาทำเป็นฝาเล้าข้าวเพราะสะดวก หาง่าย และราคาไม่แพง
          -ประตู จะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นแผ่นๆ ใส่จากด้านบนของวงกบทีละแผ่นโดยทำวงกบเป็นร่องตามแนวตั้งทั้งสองข้างเพื่อใส่แผ่นไม้ที่ทำเป็นประตู แต่ที่ใช้เป็นบานเปิด-ปิดแบบเรือนพักอาศัยก็มี แต่จะเก็บข้าวเปลือกได้น้อยกว่าแบบแรก ใช้สอยเก็บข้าวไม่สะดวก และทำให้ข้าวไหลออกจนเสียหายได้ง่าย การทำประตูเล้าข้าวจึงยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนด
          -กะทอด (พลึง) คือแผ่นไม้แผ่นหนาแข็ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนเข็มขัดรัดตรงส่วนกลาง ปิดรอบตามแนวฝาที่จดกับพื้น หน้าที่เพื่อตีรัดฝาเล้าข้าวไว้
          -บันได ปกติเล้าข้าวจะไม่มีบันไดขึ้น-ลง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ก็จะใช้ไม้กระดานวางให้มีความลาดชันมากๆ เพื่อขนข้าวขึ้น-ลง ถ้ากระดานมีความลื่นก็จะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆตีเป็นขั้นๆไว้ ซึ่งจะไม่ใช้บันไดเป็นแบบขั้นๆ แบบของเรือนพักอาศัย ในอดีตจะนิยมใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ๆตัดให้เหลือแขนง วางพาดข้างเสาด้านหน้า สำหรับปีนขึ้น-ลง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เกิน”

          ซึ่งในสังคมคนอีสานในอดีตนั้น เมื่อสร้างเรือนพักอาศัยต้องมีการสร้างเล้าข้าวด้วย เพราะอาชีพหลักคือการทำนา ข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถึงกับมีผญาภาษิตอีสานกล่าวไว้ว่า “ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีเข่าอยู่เล้า สินอนลี้อยู่จั่งได๋” เมื่อสร้างเรือนก็ต้องสร้างเล้าข้าวเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการทำนาในปีถัดไป ดังจะสังเกตได้จากบ้านเรือนคนอีสาน จะมีเล้าข้าวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย

          ปัจจุบันกระบวนการทำนาปลูกข้าวของชาวอีสานได้เปลี่ยนแปลงไป ใช้เทคโนโลยีในการผลิตแทนแรงงานคน การทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนก็เปลี่ยนเป็นการทำนาเพื่อการค้า เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ขายทันที เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่ารถเกี่ยวและค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ความสำคัญของเล้าข้าวจึงถูกลดบทบาทจากชีวิตชาวนา และสังคมชาวนาก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยใหม่ การสร้างบ้านเรือนก็นิยมสร้าง เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ จึงไม่มีการสร้างเล้าข้าวในบริเวณบ้านเหมือนในอดีต เมื่อไม่มีการสร้างเล้าข้าว ภูมิปัญญาที่แผงอยู่และสถาปัตยกรรมแบบชาวบ้านนี้ก็ค่อยๆลบเลือนไป แม้แต่บ้านเรือนชาวอีสานที่ยังคงมีเล้าข้าวอยู่ ความเชื่อและพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติต่อเล้าข้าวก็ค่อยๆถูกละเลยการปฏิบัติ ขาดการสืบต่อการปฏิบัติจากคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปจากอดีต ความเชื่อ พิธีกรรม ภูมิปัญญาและสถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน จะสามารถต้านทานกระแสสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง หยัดยืนอยู่คู่สังคมชาวนาอีสาน ไม่สูญหายไปได้จริงหรือ?

 

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

หนังสือยืนยันราคาในการขายที่ดิน

 




หนังสือยืนยันราคาในการขายที่ดิน

 

ที่...........................................................................

วันที่..............เดือน...........................................พ.ศ.................

 

          ข้าพเจ้า...................................................................................อายุ................ปี อยู่บ้านเลขที่.................ตำบล.............................................อำเภอ..............................................จังหวัด...................................................เป็นเจ้าของผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินตามเอกสาร........................... ............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................ขอมอบให้....................................................................................อายุ..................ปี อยู่บ้านเลขที่.................ตำบล.............................................อำเภอ..............................................จังหวัด...................................................เป็นผู้ดำเนินการเสนอขายที่ดินดังกล่าวนี้ ในราคาไร่ละ................................................................................บาท (..........................................................................................) โดยกำหนดยืนยันในราคานี้เป็นเวลา..............เดือน นับจากวันนี้เป็นต้นไป

          เงื่อนไขในการเสนอขาย

          1. ฝ่ายผู้ซื้อสามารถตรวจสอบหลักฐานที่ดินได้ภายหลังการทำหนังสือนี้

          2. ให้ค่านายหน้าในการดำเนินการเสนอขาย......................................................

          3. ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายมอบให้...........................................................................เป็นผู้จ่าย

          4. ค่าภาษีมอบให้...........................................................................เป็นผู้จ่าย

          5. ส่วนที่ขายได้เกินราคาตามหนังสือยืนยันราคานี้ ยินยอมให้ผู้ดำเนินการเสนอขายทั้งหมด

          6. อื่นๆ..................................................................................................................................

 

 

 

ลงชื่อ.........................................................................เจ้าของที่ดิน

      (.........................................................................)

 

ลงชื่อ.........................................................................ผู้ดำเนินการเสนอขาย

      (.........................................................................)

 

ลงชื่อ.........................................................................พยาน/ผู้รวบรวม

      (.........................................................................)

 

ลงชื่อ.........................................................................พยาน

      (.........................................................................)

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565

คอง 14 (ครรลอง 14 ประการ)

1. คองสิบสี่โดยนัย ที่ 1

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 1

เพื่อดํารงรักษาไว้ซึ่งประเพณีและทํานองคลองธรรมอันดีงามกล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัว สังคมตลอดจน ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เมื่อพูดถึงคองมักจะมีคําว่าฮีตควบคู่กันอยู่เสมอ แบ่งออกเป็น 14 ข้อ คือ

1. ฮีตเจ้าคองขุน สําหรับกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองปกครองอํามาตย์ ขุนนางข้าราชบริพาร

2. ฮีตเจ้าคองเพีย สําหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในการปกครองข้าทาสบริวาร

3. ฮีตไพร่คองนาย สําหรับประชาชนในการปฏิบัติตนตามกบิลบ้านเมืองและหน้าที่พึงปฏิบัติต่อนาย

4. ส่วนรวมฮีตบ้านคองเมือง วัตรอันพึงปฏิบัติตามธรรมเนียมทั่วไปของพลเมืองต่อบ้านเมืองและส่วนร่วม

5. ฮีตผัวคองเมีย หลักปฏิบัติต่อกันของสามีภรรยา

6. ฮีตพ่อคองแม่ หลักปฏิบัติของผู้ครองเรือนต่อลูกหลาน

7. ฮีตลูกคองหลาน หลักปฏิบัติของลูกหลานต่อบุพการี

8. ฮีตใภ้คองเขย หลักปฏิบัติของสะใภ้ต่อญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่สามี

9. ฮีตป้าคองลุง หลักปฏิบัติของลุง ป้า น้า อา ต่อลูกหลาน

10. ฮีตคองปู่ย่า ตาคองยาย หลักปฏิบัติของปู่ย่า ตายาย ให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรต่อลูกหลาน

11. ฮีตเฒ่าคองแก่ หลักปฏิบัติของผู้เฒ่าในวัยชราให้เป็นที่เคารพเลื่อมในเหมาะสม

12. ฮีตคองเดือน การปฏิบัติตามจารีตประเพณีต่าง ๆ ในฮีตสิบสอง

13. ฮีตไฮ่คองนา การปฏิบัติตามประเพณีเกี่ยวกับการทําไร่ทํานา

14. ฮีตวัดคองสงฆ์ หลักปฏิบัติของภิกษุสามเณรให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยทั้งการช่วยทํานุบํารุงวัดวาอาราม

 

2. คองสิบสี่โดยนัย ที่ 2

 

 

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 2

กล่าวถึงหลักการสําหรับพระมหากษัตริย์ในการปกครองทั้งอํามาตย์ราชมนตรีและประชาชนเพื่อความสงบสุขร่มเย็น โดยทั่วกัน

1. แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักราชการ บ้านเมือง ไม่ข่มเหงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

2. หมั่นประชุมเสนามนตรี ให้ข้าศึกเกรงกลัว บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนเป็นสุข

3. ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม

4. ถึงปีใหม่นิมนต์ภิกษุมาเจริญพุทธมนต์ สวดมงคลสูตรและสรงน้ำพระภิกษุ

5. ถึงวันปีใหม่ให้เสนาอํามาตย์นําเครื่องบรรณาการ น้ำอบ น้ำหอม มุรธาภิเษก พระเจ้าแผ่นดิน

6. ถึงเดือนหกนิมนต์ พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ถือน้าพิพัฒน์สัตยาติพระเจ้าแผ่นดิน

7. ถึงเดือนเจ็ด เลี้ยงท้าวมเหสักข์ หลักเมือง บูชาท้าวจตุโลกบาลเทวดาทั้งสี่

8. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทําพิธีชําระ และเบิกบ้านเมือง สวดมงคลสูตรคืน โปรยกรวดทรายรอบเมือง ตอกหลักบ้านเมืองให้แน่น

9. ถึงเดือนเก้า ประกาศให้ประชาชนทําบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ

10. วันเพ็ญเดือนสิบ ประกาศให้ประชาชนทําบุญข้าวสาก จัดสลากภัตต์ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ

11. วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ทําบุญออกพรรษา ให้สงฆ์ปวารณามนัสการและมุรธาภิเษก พระธาตุหลวง พระธาตุภูจอมศรี และประกาศให้ประชาชนไหลเรือไฟเพื่อบูชาพญานาค

12. เดือนสิบสองให้ไพร่ฟ้าแผ่นดินรวมกันที่พระลานหลวงแห่เจ้าชีวิตไปแข่งเรือถึงวันเพ็ญพร้อมด้วยเสนาอํามาตย์ นิมนต์ และภิกษุรูป นมัสการพระธาตุหลวงพร้อมเครื่องสักการะ

13. ถึงเดือนสิบสอง ทําบุญกฐิน ถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ

14. ให้มีสมบัติอันประเสริฐ คูนเมืองทั้ง14 อย่างอันได้แก่ อํามาตย์ ข้าราชบริพาร ประชาชน พลเมือง ตลอดจนเทวดา อารักษ์เพื่อค้ำจุนบ้านเมือง

 

3. คองสิบสี่โดยนัย ที่ 3

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 3

เป็นจารีตประเพณีของประชานและธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินพึงยึดถือ

1. เดือนหกขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทรายทุกปี

2. เดือนหกหน้าใหม่ เกณฑ์คนสาบานตนทําความซื่อสัตย์ต่อกันทุกคน

3. ถึงฤดูทํานา คราด หว่าน ปัก ดํา ให้เลี้ยงตาแฮก ตามกาลประเพณี

4. สิ้นเดือนเก้าทําบุญข้าวประดับดินเพ็ญเดือนสิบทําบุญข้าวสาก อุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ

5. เดือนสิบสองให้พิจารณาทําบุญกฐินทุกปี

6. พากันทําบุญผะเหวด ฟังเทศน์ผะเหวดทุกปี

7. พากันเลี้ยงพ่อ แม่ที่แก่เฒ่า เลี้ยงตอบแทนคุณที่เลี้ยงเราเป็นวัตรปฏิบัติไม่ขาด

8. ปฏิบัติเรือนชานบ้านช่อง เลี้ยงดูสั่งสอน บุตรธิดา ตลอดจนมอบ มรดกและหาคู่ครองเมื่อถึงเวลาอันควร

9. เป็นเขย่าดูถูกลูกเมีย เสียดสีพ่อตาแม่ยาย

10. รู้จักทําบุญให้ทาน รักษาศีล ไม่พูดผิดหลอกลวง

11. เป็นพ่อบ้านให้มีพรหมวิหาร สี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

12. พระมหากษัตริย์ต้องรักษาทศพิธราชธรรม

13. พ่อตา แม่ยาย ได้ลูกเขยมาสมสูงให้สํารวมวาจา อย่าด่าโกรธา เชื้อพงศ์พันธุ์อันไม่ดี

14. ถ้าเอามัดข้าวมารวมกองในลานทําเป็นลอมแล้ว ให้พากันปลงข้าวหมกไข่ ทําตาเหลว แล้วจึงพากันเคาะฟาดตี

 

 4. คองสิบสี่โดยนัย ที่ 4

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 4

1. ให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าและรักษาศีล227 ข้อ เป็นประจําทุกวัน

2. ให้รักษาความสะอาดกุฏิ วิหาร โดยปัดกวาดเช็ดถูกทุกวัน

3. ให้ปฏิบัติกิจนิมนต์ของชาวบ้านเกี่ยวกับการทําบุญ

4. ถึงเดือนแปด ตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเป็นต้นไปต้องจําพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่งไปจนถึงวันแรมหนึ่งคําเดือนสิบเอ็ด

5. เมื่อออกพรรษาแล้วพอถึงฤดูหนาว (เดือนอ้าย) ภิกษุผู้มีศีลหย่อนยานให้หมวดสังฆาทิเสสต้องอยู่ปริวาสกรรม

6. ต้องออกเที่ยวบิณฑบาต ทุกเช้าอย่าได้ขาด

7. ต้องสวดมนต์และภาวนาทุกคืนอย่าได้ละเว้น

8. ถึงวันพระขึ้นสิบห้าค่ำหรือแรมสิบสี่ค่ำ (สําหรับเดือนคี่) ต้องเข้าประชุมทําอุโบสถสังฆกรรม

9. ถึงปีใหม่ (เดือนห้า วันสงกรานต์) นําทายก ทายิกา เอาน้ำสรงพระพุทธรูปและมหาธาตเจดีย์

10. ถึงศักราชใหม่ พระเจ้าแผ่นดินไหว้พระ ให้สรงน้ำในพระราชวัง

11. เมื่อมีชาวบ้านเกิดศรัทธานิมนต์ไปกระทําการใด ๆ ที่ไม่ผิดหวังพระวินัยก็ให้รับนิมนต

12. เป็นสมณะให้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดวาอาราม พระมหาธาตุเจดีย์

13. ให้รับสิ่งของที่ทายก ทายิกานํามาถวายทาน เช่น สังฆทานหรือสลากภัตต

14. เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเสนาข้าราชการมีศรัทธา นิมนต์ไปประชุมกันในพระอุโบสถแห่งใด ๆ ในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดต้องไปอย่าขัดขืน

 

© กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ร้อยเอ็ด 2022, Powered by Astroid. Design by JoomDev