“อีสาน” หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพทำนาเป็นหลักมาตั้งแต่ครั้งบรรพชนจนถึงปัจจุบัน เป็นสังคมที่ต้องพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำมาหากิน เครื่องมือ เครื่องใช้ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆในการดำเนินชีวิตตามสภาพที่พึ่งมี เท่าที่ธรรมชาติในท้องถิ่นของตนจะเอื้ออำนวย ภาคอีสานถึงแม้จะมีพื้นที่ทำนาจำนวนมากแต่การผลิตข้าวยังทำได้น้อยเนื่องจากปัจจัยหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้วิถีชีวิตของคนอีสานอยู่กับการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวมาเพื่อเลี้ยงชีวิต เกือบครึ่งปี ข้าวจึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าแห่งชีวิตของคนอีสาน การเก็บรักษาข้าวพร้อมที่จะนำมาปรุงอาหารและแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงมีความสำคัญและจำเป็น จึงต้องสร้างที่เก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ประจำบ้านของตน ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เล้าข้าว”
เล้าข้าว
มีชื่อเรียกหลายอย่างด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละท้องถิ่น ในกลุ่มชาวนาภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่
เรียกว่า เล้าข้าว หลองข้าว ภาคอีสาน จะนิยมเรียกว่า “เล้าข้าว”
ภาคกลางส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ยุ้งข้าว แต่มีบางจังหวัดเรียกว่า ฉางข้าว
ส่วนภาคใต้เรียกว่า เรือนข้าว หรือ เริ้นข้าว ดังนั้น เล้าข้าว หรือ ยุ้งข้าว
จึงเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกของชาวนา
มีรูปแบบและโครงสร้างที่แข็งแรง มักเป็นเรือนหลังเดี่ยว
ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมสามารถพัดผ่านได้สะดวกเพื่อป้องกันไม่ใช้ข้าวเปลือกชื้นและขึ้นรา
ยุ้งข้าวเปรียบประดุจท้องพระคลังมหาสมบัติของชุมชน เสมือนเป็นขุมอาหาร
ซึ่งหากขาดแคลนแล้วไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่ได้
จึงก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับยุ้งข้าวอันถือเป็นเรื่องใหญ่
ความเชื่อในการสร้างเล้าข้าว
-ข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเล้าข้าว ว่าข้าวเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าวจึงต้องมีความสำคัญตามไปด้วย หรือแม้แต่ความเชื่อต่างๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา เป็นมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมของอีสาน ด้านความเชื่อในลักษณะข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามหันประตูเล้าข้าว (หันด้านหน้า) ไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจระเข้) เพราะเชื่อกันว่าเป็นการหันประตูไปทางปากช้าง แล้วช้างจะกินข้าว อันเป็นเหตุให้เก็บรักษาข้าวไม่อยู่หรือมีเหตุให้สูญเสียข้าวอยู่เรื่อยๆ ห้ามหันประตูเล้าข้าวเข้าหาเรือน ด้วยความเชื่อและเหตุผลเวลาขนข้าวเข้า-ออก จะได้ สะดวกสบาย ไม่นิยมสร้างเล้าข้าวไว้ในตำแหน่งทิศหัวนอนของเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าเป็นการนอนหนุนข้าว จะเป็นเหตุให้คนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่สบายและมีภัยพิบัติ เล้าข้าวที่ถูกรื้อแล้วห้ามนำไม้ไปสร้างเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายไม่เจริญและมีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัว บริเวณที่สร้างเล้าข้าวเมื่อรื้อออกหรือย้ายออกจะไม่สามารถสร้างบ้านบริเวณนั้นได้ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของแม่โพสพ ที่เคารพนับถือ มีพระคุณ และการสร้างเล้าข้าวจะไม่สร้างในลักษณะขวางตะวัน เพราะเชื่อว่าถ้าสร้างแล้วจะมีแต่สิ่งที่ขัดขวาง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ถูกลดบทบาทลง ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางข้อ เนื่องด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เอาความง่ายและสะดวกสบายเป็นหลักซึ่งไม่ถูกต้องตามพิธีกรรมและประเพณีดั้งเดิม
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเล้าข้าว
ชาวอีสานแต่โบราณเชื่อว่า “วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันฟ้าไข (เปิด) ประตูฝน
เพื่อให้ฝนตกลงมาสู่โลกมนุษย์ และเชื่อว่าวันขึ้น 3 ค่ำ
เดือน 3 เป็นวันที่โลกมีความอิ่มและอุดมสมบูรณ์ที่สุด ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี่
(ฮูขี่ แปลว่า รูทวารหนัก) หมากขามป้อมก็ต่าวหวาน” จึงถือโอกาสเปิดประตูเล้าข้าว
(ประตูยุ้งข้าว) ของตน
ซึ่งปิดไว้ห้ามเปิดมาตั้งแต่วันเอาข้าวขึ้นเล้าหลังนวดข้าวเสร็จ
ในประมาณกลางเดือนสิบสองหรือต้นเดือนอ้ายเป็นอย่างช้า ซึ่งจะมี “พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า” “พิธีสู่ขวัญข้าว” และ “พิธีตุ้มปากเล้า” ก่อนที่จะเปิดประตูเล้า
และจะนำข้าวเปลือกที่อยู่ในเล้าไปถวายวัดก่อนจะตักข้าวในเล้าลงมาตำกินในครัวเรือน(ซึ่งสมัยโบราณใช้วิธีการตำข้าว)
เพื่อให้เป็นไปตาม “คองสิบสี่สำหรับประชาชน ข้อที่ 1”
ที่บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้เข่าใหม่หลือหมากไม้เป็นหมากใหม่
ตนอย่าฟ้าวกินก่อนให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีสีนกินก่อน แล้วตนจึงกินเมื่อพายลุน
และให้แบ่งแก่ยาดติพี่น้องนำ”
พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า
พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำมาใส่ไว้ในเล้า
นิยมทำวันจันทร์ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5
โมง มีขั้นตอน คือ เอาเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5
คู่ ใส่ขัน พร้อมกระบุงเปล่า 1 ใบ
และหาขันหรือกระบอกใส่ข้าว(ขวัญข้าว) 1 อัน
หัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง
และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอกสำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว ยกขัน 5 ขึ้น ว่านโม 3 จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าว “อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสราธนาแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า
คุณข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ” แล้วเอาขันที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน
เอาขึ้นไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุดตรงข้ามประตูเข้าเล้า
ซึ่งขวัญข้าวที่เก็บไว้นั้นจะนำมาผสมกับข้าวปลูกเพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป
พิธีสู่ขวัญข้าว
เป็นประเพณีที่ชาวอีสานแต่ละครอบครัวจะทำกัน ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถ้าครัวเรือนไหนจะสู่ขวัญข้าวก็จะจัด “พาขวัญน้อย” หนึ่งพา แล้วให้หมอสูดมาเป็นผู้ “สูดขวัญ” ให้เล้าข้าว โดยโยงด้ายสายสิญน์จากเล้าข้าวมาหาพาขวัญกับหมอสูดที่อยู่ข้างๆ ซึ่งในประเพณีอีสานในการสูดขวัญข้าวก็จะมีคำสูดขวัญโดยเฉพาะพิธีตุ้มปากเล้า
ชาวอีสานหลังจาก “เอาเข่าขึ้นเล่า” แล้วชาวนาอีสานจะปิดประตูเล้าสนิท จะไม่ตักข้าวในเล้ามากินหรือมาขายเป็นอันขาด ข้าวเปลือกที่จะนำมาตำหรือมาสีกินในระหว่างที่ปิดประตูเล้าข้าวนั้น จะแบ่งไว้หรือกันไว้นอกเล้าข้าวต่างหาก เพราะชาวอีสานเชื่อว่า เมื่อนำข้าวขึ้นเล้าแล้วต้องปิดประตูเล้า
รอถึงวันขึ้น 3 ค่ำ
เดือน 3 ซึ่งเชื่อว่า “เป็นวันมงคล” จึงจะเปิดประตูเล้าข้าวได้
เพราะเชื่อว่าถ้าเปิดก่อนจะไม่เป็นมงคลแก่เล้าข้าว และข้าวในเล้าจะบก(ลด)
จะพ่องไปอย่างรวดเร็ว พิธีกรรมการเปิดเล้าข้าวครั้งแรกเรียกว่า “ตุ้มปากเล้า” (ตุ้ม-คุ้มครอง, ปากเล่า-ประตูเล้า) การตุ้มปากเล้า
แต่ละครัวเรือนก็จะต่างคนต่างทำที่เล้าข้าวของตนเพื่อปลอบขวัญข้าว
หรือปลอบขวัญแม่โพสพ ผู้เป็นแม่เรือนจะจัดขัน 5 (ดอกไม้ 5
คู่ เทียนเล็ก 5 คู่)
ใส่จานวางไว้ที่ประตูเล้าแล้วบอกกล่าวกับเล้าข้าวว่า “วันนี้เป็นวันดี
จะมีการเปิดเล่าเข่า ขอให้กินอย่าบก จกอย่าลง” หรือบางคนอาจจะกล่าวยาวๆ
ซึ่งมีคำกล่าวในพิธีการตุ้มปากเล้าโดยเฉพาะของอีสานอยู่ก็แล้วแต่แม่เรือน
ผู้ทำพิธี พอพูดจบก็ไข (เปิด) ปักตู (ประตู) แล้วก็เสร็จพิธี ซึ่งในวิถีอีสานปัจจุบันการทำพิธีสู่ขวัญข้าว
การเอาข้าวขึ้นเล้า จะไม่ค่อยมีแล้ว
จะนิยมเอาใส่กระสอบไว้ในบ้านหรือขายตั้งแต่เกี่ยวข้าวเสร็จ
เนื่องด้วยยึดความสะดวกสบาย ตามสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
เพราะการทำนาในปัจจุบันมีการลงทุน
มีการใช้เครื่องจักรและการจำหน่ายผลผลิตเพื่อให้ได้กำไร พิธีกรรมที่เคยปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย
นอกเหนือจากพิธีกรรมแล้วเล้าข้าวยังแฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาแห่งบรรพชนในการออกแบบการก่อสร้าง
การใช้ประโยชน์และการเก็บรักษาผลผลิตที่ได้สั่งสมมาอีกด้วย
ภูมิปัญญาในการก่อสร้างเล้าข้าว
ภูมิปัญญาในการก่อสร้าง
ยุ้งข้าว(เล้าข้าว) ไว้ว่า ยุ้งข้าวเป็นภูมิปัญญาโบราณที่รับใช้ชาวนา
ทุกชนชาติมาอย่างยาวนาน
และยังสืบทอดพัฒนาจนเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบ
ถึงแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ที่เกิดจากการสั่งสมศึกษาลองผิดลองถูกจนเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
แต่หลักในการออกแบบเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) มีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะประโยชน์ใช้สอยหลักของเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) ไม่ว่าของพื้นที่ใดก็คือการป้องกันเมล็ดข้าวจากความร้อน
ความชื้น สัตว์ และแมลงที่มาทำลายข้าวให้เกิดความเสียหายแนวคิดในการออกแบบเล้าข้าว
(ยุ้งข้าว) ถึงจะต่างพื้นที่ ต่างสังคมวัฒนธรรมและศาสนา
แต่สถาปัตยกรรมของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึง
จนเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ 1) ยกพื้นสูง
เพื่อป้องกันความชื้น ป้องกันการรบกวนของสัตว์ใหญ่ เช่น แรดและช้าง 2) การก่อสร้างผนังอยู่ริมในของเสาเพื่อทำให้ภายในยุ้งข้าวไม่มีซอกมุมที่เกิดจากเหลี่ยมเสาเพื่อลดการสะสมของเมล็ดข้าวอยู่ตามซอก
ไม่มีบันไดและหน้าต่างเพื่อป้องกันแสง ความร้อนและความชื้น
ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายอากาศได้ดี 3) โครงสร้างอยู่ภายนอกผนังเพื่อรับนํ้าหนัก
ระบบโครงสร้างกับระบบผนังมักจะแยกเป็นอิสระจากกัน
พื้นจะทำหน้าที่รับนํ้าหนักของข้าว ถ่ายเทนํ้าหนักลงบนตงและคาน
ผนังจะรับแรงถีบจากด้านข้าง เสาจะรับทั้งนํ้าหนักและแรงถีบจากผนัง
ในเล้าข้าวขนาดใหญ่มักจะมีเคร่าตีเสริมระหว่างเสาเพื่อช่วยรับแรงถีบของข้าว
และมักเอียงเสาเข้า เพื่อรับแรงอีกทางหนึ่ง ในภาคอีสานเรียกรูปแบบนี้ว่าทรงช้างขี้
มีหลังคาลาดชันระบายนํ้าได้ดี
หลังคาจะค่อนข้างชันเพื่อป้องกันฝนรั่วทำลายข้าวภายในเล้าข้าว 5) มีรายละเอียดในการก่อสร้าง เพื่อป้องกัน นกหนู แมลง
ที่กินเมล็ดธัญพืชเป็นอาหารซึ่งเป็น
ศัตรูสำคัญซึ่งทำให้ผลผลิตที่เก็บไว้ยุ้งข้าวเสียหาย
ชาวอีสานโบราณได้สั่งสมความรู้และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันผลผลิตจากแมลงและหนูโดยจะไม่วางเล้าไว้ใกล้บ้าน
รั้ว หรือต้นไม้เพื่อกันหนูกระโจน เข้ามาในเล้าและที่โคนเสาก็จะใช้วัสดุผิวมันกรุเอาไว้เพื่อป้องกันหนูไต่
6) มีจารีต และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเคารพต่อธรรมชาติ
ทุกวัฒนธรรมที่ปลูกข้าวจะมีผีและเทวดาที่เกี่ยวข้องกับข้าว แผ่นดิน ต้นไม้ ฝน นํ้า
ที่สำคัญต่อการเพาะปลูก เช่น พระแม่โพสพ พญาแถน พญาคันคาก นาค งู เงือก ฯลฯ
โดยผีและเทวดาเหล่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติสามารถให้คุณและโทษแก่ผลผลิตข้าวของเกษตรกรได้
จึงต้องมีจารีตประเพณีเพื่อแสดงความเคารพ ขอขมา บอกกล่าวต่อธรรมชาติอยู่มากมายตลอดทั้งปี
สถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน
เล้าข้าวออกเป็น 3 ขนาด คือ 1)
เล้าข้าวขนาดเล็ก มีขนาดยาว 1-3 ช่วงเสากว้าง 1-2 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาอยู่ห่างกัน 1.00 -2.00 เมตร
เก็บข้าวได้ไม่เกิน 500 กระบุง 2) เล้าข้าวขนาดกลาง
สำรวจพบว่ามีมากทีสุดประมาณร้อยละ 90 ขนาดยาว 3-4 ช่วงเสา กว้าง 2-3 ช่วงเสา
ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นไม้เนื้อแข็ง ส่วนหลังคามักมุงกระเบื้องดินเผา
หรือกระเบื้องคอนกรีต แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีเป็นส่วนใหญ่
เล้าข้าวขนาดกลางเก็บข้าวได้ 500-1,000 กระบุง 3) เล้าข้าวขนาดใหญ่ ยาวมากกว่า 4 ช่วงเสากว้างมากกว่า 3
ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นเดียวกับเล้าข้าวขนาดกลาง
เล้าข้าวขนาดใหญ่เก็บข้าวได้มากกว่า 1,000 กระบุง
วัสดุที่ใช้และส่วนประกอบของเล้าข้าว
โครงสร้างทั้งหมดของเล้าข้าวนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งในการก่อสร้าง
ไม่ว่าจะเป็น เสา ขาง (คาน) ตง คร่าว ขื่อ สะยัว (จันทัน) ดั้ง ตลอดจนกะทอด (พลึง)
แป กลอน และวงกบประตู เพื่อความคงทนแข็งแรงในการรับน้ำหนัก
ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญ มีดังนี้คือ
-ตง คือไม้เนื้อแข็งขนาด ประมาณ 3 – 4 นิ้ว ขนาดยาว
ที่ใช้วางบนคาน (ขาง) ซึ่งบางครั้งจะมีหรือไม่มีก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุคือไม้ และความต้องการในเรื่องความคงทน แข็งแรง
เพราะถ้าใช้ตงวางบนคานก็จะช่วยทำให้การรับน้ำหนักของพื้นเล้ามีมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าจะมีแต่คานโดยไม่มีตงก็สามารถจะรับน้ำหนักได้อยู่แล้ว
หลังคา จะมีรูปทรงเป็นหน้าจั่ว
ยุคแรกๆจะนิยมใช้หญ้าแฝก, หญ้าคามุงกันมาก
ต่อมามีการใช้แผ่นไม้มุง (แป้นมุง-แผ่นไม้แข็งที่เอามาตัดและถางให้เป็นรูปคล้ายกระเบื้องดินขอ)
และในสมัยปัจจุบันนิยมใช้สังกะสี หน้าจั่ว จะใช้หญ้าแฝก,หญ้าคา หรือไม้ไผ่สาน
เพื่อกันฝนสาดเข้าไปถูกข้าวเลือกที่เก็บไว้ในเล้า
-พื้น จะใช้ไม้แผ่นเนื้อแข็งอีสานเรียกแป้น เพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก
เมื่อปูพื้นด้วยไม้แผ่นเนื้อแข็งแล้ว
จะเกิดร่องระหว่างแผ่นที่เกิดจากการไม่ชิดกันของแผ่นไม้
ชาวอีสานจะใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นชิ้นกว้างประมาณ 2 ซม. เศษๆ
หรือบางครั้งก็ใช้ไม้แผ่นตีทับตามแนวร่องปิดไว้ ไม้แผ่นที่ตีปิดร่องนี้เรียกว่า
“ลึก” หรือ “ลึกไม้” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกรั่วออกจากพื้นเล้า
-ฝา เป็นส่วนประกอบเล้าที่สำคัญมาก ในแง่ประโยชน์ใช้สอย
ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ในอดีตจะนิยมใช้ไม้แซง(ลำแซง), ไม้แขม(ลำแขม), และไม้ไผ่จักเป็นเส้นขนาดประมาณ 1
ซม. มาสานเป็นลายขัดแล้วทาอุดด้วยขี้วัว
ขี้ควายผสมน้ำและดินโคลนตามความเหมาะสม เพื่ออุดรอยรั่วของลายขัด
ซึ่งนิยมใช้ไม้แซงมากกว่าไม่แขม เพราะมีความคงทนกว่า แต่ต้องไปตัดไกลๆจากหมู่บ้าน
คนที่ชอบสะดวกและง่ายๆ ก็มักจะใช้ไม้แขม เพราะขึ้นอยู่ตามบริเวณหนองน้ำใกล้ๆ
หมู่บ้าน พอไม้แซงและไม้แขมหายาก จึงใช้ไม้ไผ่จักเป็นเส้นมาสานทำเป็นฝาแทน
ต่อมาจึงมีการใช้ไม้แผ่น(ไม้แป้น)มาทำเป็นฝากันมากขึ้นเพราะคงทนถาวรมากกว่า
เมื่อไม้แผ่นหายากและมีราคาสูง
ในปัจจุบันส่วนมากจึงนิยมใช้สังกะสีมาทำเป็นฝาเล้าข้าวเพราะสะดวก หาง่าย และราคาไม่แพง
-ประตู จะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นแผ่นๆ
ใส่จากด้านบนของวงกบทีละแผ่นโดยทำวงกบเป็นร่องตามแนวตั้งทั้งสองข้างเพื่อใส่แผ่นไม้ที่ทำเป็นประตู
แต่ที่ใช้เป็นบานเปิด-ปิดแบบเรือนพักอาศัยก็มี
แต่จะเก็บข้าวเปลือกได้น้อยกว่าแบบแรก ใช้สอยเก็บข้าวไม่สะดวก และทำให้ข้าวไหลออกจนเสียหายได้ง่าย
การทำประตูเล้าข้าวจึงยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนด
-กะทอด (พลึง) คือแผ่นไม้แผ่นหนาแข็ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนเข็มขัดรัดตรงส่วนกลาง
ปิดรอบตามแนวฝาที่จดกับพื้น หน้าที่เพื่อตีรัดฝาเล้าข้าวไว้
-บันได ปกติเล้าข้าวจะไม่มีบันไดขึ้น-ลง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง
ก็จะใช้ไม้กระดานวางให้มีความลาดชันมากๆ เพื่อขนข้าวขึ้น-ลง
ถ้ากระดานมีความลื่นก็จะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆตีเป็นขั้นๆไว้
ซึ่งจะไม่ใช้บันไดเป็นแบบขั้นๆ แบบของเรือนพักอาศัย
ในอดีตจะนิยมใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ๆตัดให้เหลือแขนง วางพาดข้างเสาด้านหน้า
สำหรับปีนขึ้น-ลง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เกิน”
ซึ่งในสังคมคนอีสานในอดีตนั้น
เมื่อสร้างเรือนพักอาศัยต้องมีการสร้างเล้าข้าวด้วย เพราะอาชีพหลักคือการทำนา
ข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน
ถึงกับมีผญาภาษิตอีสานกล่าวไว้ว่า “ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า
ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีเข่าอยู่เล้า สินอนลี้อยู่จั่งได๋” เมื่อสร้างเรือนก็ต้องสร้างเล้าข้าวเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการทำนาในปีถัดไป
ดังจะสังเกตได้จากบ้านเรือนคนอีสาน จะมีเล้าข้าวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย
ปัจจุบันกระบวนการทำนาปลูกข้าวของชาวอีสานได้เปลี่ยนแปลงไป
ใช้เทคโนโลยีในการผลิตแทนแรงงานคน
การทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนก็เปลี่ยนเป็นการทำนาเพื่อการค้า
เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ขายทันที เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
ค่ารถเกี่ยวและค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ความสำคัญของเล้าข้าวจึงถูกลดบทบาทจากชีวิตชาวนา
และสังคมชาวนาก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยใหม่ การสร้างบ้านเรือนก็นิยมสร้าง
เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ จึงไม่มีการสร้างเล้าข้าวในบริเวณบ้านเหมือนในอดีต
เมื่อไม่มีการสร้างเล้าข้าว
ภูมิปัญญาที่แผงอยู่และสถาปัตยกรรมแบบชาวบ้านนี้ก็ค่อยๆลบเลือนไป แม้แต่บ้านเรือนชาวอีสานที่ยังคงมีเล้าข้าวอยู่
ความเชื่อและพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติต่อเล้าข้าวก็ค่อยๆถูกละเลยการปฏิบัติ
ขาดการสืบต่อการปฏิบัติจากคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ
ค่านิยมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปจากอดีต ความเชื่อ พิธีกรรม
ภูมิปัญญาและสถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน จะสามารถต้านทานกระแสสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง
หยัดยืนอยู่คู่สังคมชาวนาอีสาน ไม่สูญหายไปได้จริงหรือ?